ประเทศ ติมอร์-เลสเต (Timor-Leste) หรือ
ติมอร์ตะวันออก มีชื่อเรียกอย่างเป็นทางการว่า
สาธารณรัฐประชาธิปไตยติมอร์-เลสเต
ติมอร์-เลสเต เป็นประเทศที่ตั้งอยู่บนเกาะในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
ประกอบด้วยเกาะติมอร์ด้านตะวันออก เกาะอาเตาโร (Atauro) และเกาะจาโก
Jaco) ที่อยู่ใกล้เคียง และเขตโอเอกูซี (Oecusse)
ซึ่งตั้งอยู่บนฝั่งตะวันตกของเกาะติมอร์
ติมอร์ตะวันออกถูกล้อมรอบโดยพื้นที่ของประเทศอินโดนีเซีย
แต่เดิมประเทศติมอร์-เลสเตถูกปกครองโดยประเทศอินโดนีเซีย
ซึ่งได้ยึดครองติมอร์ตะวันออกเป็นจังหวัดหนึ่งของประเทศเมื่อปี พ.ศ. 2518 (ค.ศ.
1975) และในปี พ.ศ. 2542 (ค.ศ.
1999) ติมอร์ตะวันออกได้แยกตัวเป็นอิสระ
และได้รับเอกราชอย่างเต็มตัวเมื่อวันที่ 20 พฤษภาคม
พ.ศ. 2545 (ค.ศ. 2002) เมื่อประเทศติมอร์ตะวันออกเข้าร่วมองค์การสหประชาชาติในปีเดียวกัน
ก็ได้ตกลงว่าจะเรียกประเทศอย่างเป็นทางการว่า "ติมอร์-เลสเต" (Timor-Leste)
ซึ่งเป็นชื่อในภาษาโปรตุเกส
การปกครอง
ตาอูร์ มาตัน รูอัก
ประธานาธิบดีประเทศติมอร์ตะวันออกคนปัจจุบัน
ปัจจุบันประเทศติมอร์-เลสเตมีการปกครองในระบอบประชาธิปไตย
แต่ด้วยความที่เป็นประเทศใหม่ ซึ่งต้องเผชิญกับเหตุการณ์สงครามกลางเมือง
และการรุกรานจากประเทศอื่น เพื่อให้การดำเนินการในติมอร์ตะวันออกเป็นไปโดยสงบ
องค์การสหประชาชาติโดยสำนักงานโครงการเพื่อสนับสนุนภารกิจของในติมอร์ตะวันออก (United
Nation Mission of Support in East Timor : UNMISET) เป็นหน่วยงานที่คอยให้การสนับสนุนการดำเนินการต่าง
ๆ ในติมอร์ตะวันออกให้เป็นไปอย่างเรียบร้อย
ประเทศติมอร์ตะวันออกเป็นสมาชิกขององค์การสหประชาชาติเมื่อวันที่ 27 กันยายน
ค.ศ. 2002
ภูมิประเทศ
ประเทศติมอร์-เลสเตเป็นประเทศหมู่เกาะ
จัดเป็นเกาะในกลุ่มเกาะอินโดนีเซีย เรียกว่า เกาะติมอร์ ด้วยเงื่อนไขทางภูมิศาสตร์ที่เป็นเกาะขนาดเล็ก
เกาะติมอร์ตั้งอยู่ทางตอนเหนือของประเทศออสเตรเลีย และอยู่ห่างจากกรุงจาการ์ตา
ของประเทศอินโดนีเซียไปทางตะวันออกประมาณ 2,100 กิโลเมตร
ประเทศติมอร์ตะวันออกประกอบไปด้วยดินแดนส่วนปลายด้านตะวันออกของเกาะติมอร์
และมีดินแดนส่วนแยกเขตโอเอกูซีที่ตั้งอยู่บนชายฝั่งทางตอนเหนือของติมอร์ตะวันตกซึ่งอยู่ในการปกครองของประเทศอินโดนีเซีย
ภูมิอากาศ
ประเทศติมอร์-เลสเตมีเพียงสองฤดูเช่นเดียวกับทางภาคใต้ของประเทศไทย
คือมีฤดูฝนและฤดูแล้ง ภูมิอากาศบางแห่งมีภูมิอากาศแบบสะวันนา ด้วยเหตุที่ได้รับลมแล้งจากทะเลทรายทางตอนเหนือของประเทศออสเตรเลีย
ทรัพยากรทางธรรมชาติของติมอร์ตะวันออกคือ น้ำมัน และก๊าซธรรมชาติ
ซึ่งอาจมีมากไม่แพ้ประเทศบรูไนที่อยู่ในทะเลลึกที่เรียกว่า Timor Gap ซึ่งอยู่ครึ่งทางระหว่างติมอร์-เลสเตกับออสเตรเลีย
ส่วนพืชเศรษฐกิจที่สำคัญได้แก่ กาแฟ มะพร้าว โกโก้ ข้าวโพด
และปศุสัตว์ที่สำคัญได้แก่ โค กระบือ แกะ ม้า และทรัพยากรสัตว์น้ำที่มีอยู่มากมาย
เศรษฐกิจ
ลู่ทางการค้าการลงทุนในติมอร์ตะวันออกที่มีศักยภาพ
คือ ไร่กาแฟ การประมง ธุรกิจการท่องเที่ยว
รวมถึงแหล่งทรัพยากรประเภทน้ำมันดิบและก๊าซธรรมชาติในเขต Timor Gap ซึ่งอยู่ระหว่างติมอร์-เลสเตกับออสเตรเลีย
อย่างไรก็ดี
ธุรกิจเหล่านี้ยังจำเป็นต้องได้รับการพัฒนาและการสนับสนุนด้านการเงินจากนักลงทุนภายนอกอยู่มาก
เนื่องจากติมอร์-เลสเตยังขาดเงินทุน
และชาวติมอร์-เลสเตยังขาดทักษะในการประกอบกิจกรรมทางเศรษฐกิจ
กอปรกับในปัจจุบันมีอัตราผู้ว่างงานสูงประมาณร้อยละ 80
ซึ่งในส่วนของนักธุรกิจไทยจำเป็นต้องศึกษาความเป็นไปได้ของระเบียบรวมถึงอุปสรรคดังกล่าวต่าง
ๆ ข้างต้น เพื่อประกอบการพิจารณาถึงความเสี่ยงในการลงทุนในติมอร์-เลสเต
และขณะนี้สินค้าส่วนใหญ่ในติมอร์-เลสเตนำเข้าจากออสเตรเลีย
เพื่อรองรับการบริโภคของคณะเจ้าหน้าที่จากสหประชาชาติและคณะทูตที่ปฏิบัติงานในติมอร์-เลสเต
ประชากร
งานแต่งงานของชาวติมอร์เชื้อสายจีนแคะ ปี ค.ศ.
2006
ประเทศติมอร์-เลสเตมีประชากรประมาณ 1,040,880
คน โดยประชากรมีความหลากหลายทางด้านชาติพันธุ์ และภาษาที่มีถึง 30 กลุ่ม
โดยต่างคนต่างอยู่ นอกจากนี้ยังมีชุมชนชาวติมอร์เชื้อสายจีน และคนไทยในกรุงดิลี
ส่วนภาษาทางการนั้นไม่เป็นที่ตกลงแน่นอนว่าจะใช้ภาษาใดเป็นภาษาทางการ
แต่ภาษาที่ใช้กันอย่างแพร่หลายในติมอร์-เลสเต คือ ภาษาเตตุม ภาษาโปรตุเกส ภาษาอินโดนีเซีย
และภาษาอังกฤษ โดยสองภาษาหลังนี้ทางการถือเป็นภาษาปฏิบัติการ
นอกจากนี้ยังมีภาษาของชนเผ่าพื้นเมืองต่าง ๆ ที่กระจายอยู่ทั่วประเทศ
วัฒนธรรม
ประชาชนชาวติมอร์-เลสเตส่วนใหญ่อาศัยอยู่ตามชนบท
โดยส่วนมากยังทำการเกษตรแบบดั้งเดิมและพึ่งพาตนเอง มีการศึกษาต่ำ
มีการจับปลาและเลี้ยงสัตว์ ผู้คนส่วนใหญ่ค้าขายไม่เป็น
ไม่มีความรู้เกี่ยวกับอุตสาหกรรม เครื่องจักรกล
แต่ชาวติมอร์-เลสเตนั้นมีความเคารพในระบบอาวุโส มีระบบเครือญาติที่แข็งแกร่ง
รักพวกพ้อง รักขนบธรรมเนียมประเพณีดั้งเดิม โดยสตรีชาวติมอร์-เลสเตนั้นจะทำงานหนักในขณะที่บุรุษมักไม่ค่อยช่วยงานบ้าน